นายสมคิด พานทอง เกษตรกรในพื้นที่เจ้าของแปลงกระเพราป่ากว่า 15 ไร่ ที่วันนี้ได้พลิกฟื้นชีวิต หลังจากได้เข้าไปศึกษาดูงานที่ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตร กับบริษัท ซีพีแรม จำกัด โรงงานลาดหลุมแก้ว ใน ‘โครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน’ ได้รับความรู้ในการปลูกพืชภายใต้ จีเอพี ( GAP : Good Agricultural Practices) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสมมาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ
“ตั้งแต่ลดการใช้สารเคมี แล้วหันมาใช้สารชีวภาพหรือจุลินทรีย์เป็นส่วนผสมในการเพาะปลูกตามหลักจีเอพี กระเพราของเราจึงปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค ตัวผมและภรรยา รวมทั้งคนงานก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการเจ็บไข้ได้ป่วยเหมือนแต่ก่อน นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำให้ปลูกกะเพราป่าที่มีความหอมกว่ากระเพราพันธุ์อื่น โดยมีบริษัท มารับซื้อผลผลิตในราคาประกันที่เป็นธรรมกับเกษตรกร จึงทำให้ผมมีรายได้ที่มั่นคง จัดการบัญชีก็ง่ายขึ้น รู้รายรับรายจ่ายแต่ละวันได้ทันที ผมปลูกกระเพราป่าส่งขายได้สัปดาห์ละ 700 กิโลกรัม รวมกับกระเพราเกษตรและโหระพา หักต้นทุนแล้ว มีกำไรประมาณเดือนละ 4-5 หมื่นบาท แต่ที่สำคัญคือทุกอย่างรอบตัวดีขึ้นทั้งคุณภาพชีวิตที่สามารถส่งลูกๆ เรียนหนังสือสูงๆ และยังส่งไปถึงผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัย รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ในชีวิต”
นางวาสนา เปรียเวียง คือเกษตรกรอีกรายหนึ่งที่ได้ตัดสินใจทิ้งอาชีพพนักงานบริษัท เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับสามีและลูกๆ รวมทั้งสานต่ออาชีพเกษตรกรของพ่อแม่ และได้เข้าร่วมโครงการเรียนรู้คู่อาชีพ เพื่อวิถีเกษตรที่ยั่งยืน เมื่อปีที่ผ่านมา และเลือกนำความรู้ที่ได้รับมาทำเกษตรกรรมปลอดภัยแบบผสมผสาน
“แปลงของเราปลูกพืชหลายชนิด ทั้งกระเพราป่า กระเพราเกษตร ยอดมะรุม ใบชะพลู ใบบัวบก และผลไม้ เช่น ฝรั่ง เพื่อลดการพึ่งพาพืชตัวใดตัวหนึ่ง และมีการรวมกลุ่มกับเกษตรกรละแวกเดียวกันในนามวิสาหกิจปลูกผักปลอดภัย
เพื่อช่วยเหลือกันเรื่องราคาสินค้าที่ไม่แน่นอนและหาวิธีสร้างรายได้ที่มั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้ที่ช่วยให้เราทันต่อความเปลี่ยนแปลง ทำให้เรารู้เรื่องข้อกำหนดการใช้สารเคมีและสารชีวภาพที่แตกต่างกันของตลาดส่งออกในแต่ละภูมิภาค เวลาเกิดปัญหา ก็มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือให้คำแนะนำ เช่น ในช่วงที่เกิดโรคระบาด หรือการปรับปรุงให้สินค้าไม่มีปัญหาก่อนจัดส่ง ตอนนี้สามารถปลูกกระเพราป่าขายได้สัปดาห์ละ 200 กว่ากิโลกรัม รวมกับพืชตัวอื่นด้วยก็มีรายได้ตกเดือนละ 30,000 บาท เป็นรายได้ที่มั่นคงขึ้น และมีความสุขที่มีเวลาให้ครอบครัวและดูแลลูก ตามที่เราฝันไว้”
ที่มา : www.kasetkaoklai.com