วิธีจัดการ “ดินเค็ม” แก้ปัญหาและทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด


ทุกวันนี้เมืองไทยกำลังเผชิญปัญหาดินเสื่อมโทรม จากปัญหาดินเค็ม เนื่องจาก ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทั้งนี้ สามารถแบ่งประเภทดินเค็มได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของพื้นที่ที่พบ คือ 1. ดินเค็มชายทะเล 2. ดินเค็มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ



ดินเค็มชายทะเล เกิดจากตะกอนที่แม่น้ำพัดพามาตกทับถมในทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ลำคลองแถบชายฝั่งทะเล เมื่อมาตกทับถมกันนานเข้าก็จะกินบริเวณกว้างขวางจนเกิดเป็นหาดเลน และเมื่อมีตะกอนดินทับถมมากขึ้นก็จะค่อย ๆ พัฒนาเป็นแผ่นดิน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม เนื้อดิน เป็นดินเหนียวซึ่งมีลักษณะเป็นเลน มีสีเทา หรือสีน้ำเงินปนเทา การระบายน้ำเลว


ดินเค็มชายทะเล ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชทั่ว ๆ ไปได้ เพราะดินมีความเค็มสูงมาก มีพืชธรรมชาติบางชนิดเท่านั้นที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถขึ้นได้ดีในดินพวกนี้ ได้แก่ แสม โกงกาง ลำพู ตะบูน ประสัก รวมเรียกว่า ป่าชายเลน ปรือ ป่าโกงกาง ดินเค็มชายทะเลนี้พบอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ และภาคตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 3.7 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม ดินเค็มชายทะเล สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ดินเค็มโซเดียม และดินเค็มกรด ซึ่งจะกลายเป็นดินเปรี้ยวจัด หากดินนี้ถูกทำให้แห้ง หรือมีการปรับปรุงมิให้มีน้ำท่วมขัง

วิธีปรับปรุงดินเค็มชายทะเลเพื่อการเกษตร ได้แก่

- ยกร่องชะล้างเกลือ โดยระบบชลประทาน และทำคันดินกั้นน้ำทะเล เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลเข้าถึงพื้นที่
- ลดระดับความเค็มของดินด้วยการกักน้ำจืดให้แช่ขังในพื้นที่
- ปลูกพืชทนเค็มในบริเวณพื้นที่ดินเค็ม เช่น มะพร้าว ละมุด พุทรา ฝรั่ง มะขามเทศ สะเดา ฯลฯ
- ใช้ที่ดินทำประโยชน์อย่างอื่น ให้สอดคล้องกับทรัพยากร เช่น ทำนากุ้ง เลี้ยงปลา ทำนาเกลือ หรือเป็นเขตที่อยู่อาศัย และโรงงานอุตสาหกรรม

ดินเค็ม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ดินเค็มบนพื้นที่นอกชายฝั่งทะเล) จากการทำแผนที่ดินเค็ม และประเมินพื้นที่ดินเค็มโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ปรากฏว่า พบดินเค็ม 17% ของพื้นที่ทั้งภาค พบในทุกจังหวัด ยกเว้นจังหวัดเลย ผลการสำรวจแบ่งพื้นที่ออกได้เป็น 3 ระดับความเค็ม คือ 1. บริเวณที่มีความเค็มในฤดูแล้ง เมื่อดินแห้งมากกว่า 16 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร มีพื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ 2. บริเวณที่มีความเค็มปานกลาง อยู่ระหว่าง 8-16 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร มีพื้นที่ 3.6 ล้านไร่ 3. บริเวณที่มีความเค็มน้อยในฤดูแล้ง ความเค็มอยู่ระหว่าง 4-8 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร มีพื้นที่ 12.6 ล้านไร่ จังหวัดที่พบมากที่สุดคือ จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ดินเค็ม 2.5 ล้านไร่

ดินเค็มภาคอีสาน

ลักษณะของดินเค็มของภาคอีสานสังเกตได้ง่าย คือ จะเห็นขุยเกลือขึ้นตามผิวดิน และมักเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีการทำเกษตรกรรม หรือถ้าไม่เห็นขุยเกลือขึ้นก็จะเป็นที่ว่างเปล่าไม่มีพืชอื่นขึ้นได้ ยกเว้นวัชพืชที่ชอบเกลือ เช่น หนามแดง หนามบี่ หนามพรม เป็นต้น ลักษณะของดินเค็มอีกประการหนึ่ง คือ ความเค็มจะไม่มีความสม่ำเสมอกันในพื้นที่เดียวกัน และความเค็มจะเปลี่ยนไปสะสมในชั้นของดินต่าง ๆ ไม่เท่ากันตามฤดูกาล โดยปกติในฤดูฝนเกลือจะถูกชะล้างไปสะสมในดินชั้นล่าง ในฤดูแล้งเกลือจะระเหยขึ้นมากับน้ำสะสมอยู่ที่ชั้นดินบนสลับกัน


ดินเค็มนอกชายฝั่งทะเลมีสาเหตุการเกิด เนื่องมาจากแหล่งเกลือในดินซึ่งมีกำเนิดมาจากหินที่อยู่ในชุดมหาสารคาม (Mahasarakam formation) ซึ่งหินในชุดนี้ ได้แก่ พวกหินดินดาน และหินทราย ที่มีเกลือเป็นองค์ประกอบ แหล่งเกลือนี้อยู่ลึกจากผิวดินไม่มากนัก และอีกสาเหตุหนึ่งคือ บริเวณที่เกิดดินเค็มมีน้ำใต้ดินเค็ม โดยเฉพาะน้ำใต้ดินที่มีระดับใกล้ผิวดิน การแพร่กระจายขยายอาณาเขตของดินเค็มเป็นไปได้หลายวิธี เช่น การสลายตัวของแหล่งเกลือที่มีอยู่ในที่สูง ที่หน้าดินเสียสมดุลในการรักษาความชื้นตามธรรมชาติ เพราะไม่มีต้นไม้ช่วยดูดซึมน้ำฝนส่วนเกิน เมื่อฝนตกจะเกิดการชะล้างหินดินดาน และหินทรายที่มีเกลืออยู่ให้สลายตัวทำให้เกลือถูกพัดพาไปซึมออกตามเชิงเนินแล้วเกิดดินเค็มในบริเวณพื้นที่ที่ต่ำกว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า “Saline seep”

ส่วนน้ำใต้ดินเค็มที่อยู่ในระดับไม่ลึก ทำให้เกิดปัญหาดินเค็มได้ เพราะเกลือถูกพาขึ้นมาสะสมบนผิวดินโดยแรง Capillary force ทำให้มองเห็นคราบเกลือเป็นหย่อม ๆ อยู่ทั่วไปบนผิวดิน นอกจากนี้การสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำนาเกลือโดยไม่มีระบบระบายน้ำที่ถูกต้อง การถางป่า หรือปล่อยพื้นที่บริเวณเป็นเกลือให้ว่างเปล่า ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายขยายอาณาเขตของดินเค็มได้เช่นกัน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดินเค็มก็คือ ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้หรือได้ผลผลิตต่ำ พืชบางชนิดที่ไปได้ก็จะมีลักษณะบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป เช่น ใบสีเข้มขึ้น มีสารพวกไขเคลือบหนาขึ้น พืชบางชนิดใบไหม้ ต้นข้าวในแปลงดินเค็มจะมีการเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอ ต้นแคระแกร็นไม่แตกกอ ใบแสดงอาการเป็นขีดขาว แล้วไหม้ตายในที่สุด อันตรายของความเค็มที่มีต่อพืชโดยตรง คือลดการดูดน้ำของพืช เพราะมีการเพิ่ม Osmotic pressure ของสารละลายในดินทำให้พืชแสดงอาการขาดน้ำ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหาร เนื่องจากมีโซเดียม โบรอนคลอไรด์มากเกินไป ทำให้ธาตุบางชนิดเป็นพิษแก่พืช


แนวทางแก้ไขและการปรับปรุงดินเค็ม ต้องอาศัย การจัดการดิน น้ำ และพืช ไปพร้อมกันโดยต้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แนวทางการแก้ไขอาจแบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ 1. การป้องกันการเกิดดินเค็ม ดำเนินการในบริเวณที่มีชั้นดินหรือหินที่มีเกลือ ในการนี้ทำโดยรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมแห่งธรรมชาติ โดยเฉพาะในการรักษาความชุ่มชื้น สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ที่ทำการเกษตร ไม่ปล่อยพื้นที่ให้ว่างเปล่า ในพื้นที่ของรัฐจะต้องสร้างสวนป่าขึ้นทดแทนป่าไม้ที่ถูกแผ้วถางทำลาย ในการปลูกต้นไม้ควรปลูกต้นไม้รากลึกทนเค็ม เพื่อป้องกันมิให้เกลือละลายซึมออกมายังที่ต่ำกว่า

การป้องกันการแพร่กระจายและการกำจัดดินเค็ม – หลีกเลี่ยงการสร้างอ่างเก็บน้ำที่จะทำให้เกิดปัญหาดินเค็มขึ้น – สำรวจด้านวิศวกรรม ในการจัดทำคูคลองระบายน้ำ เพื่อตัดกระแสการไหลของน้ำใต้ดินที่มีเกลือสะสมอยู่ แล้วเบนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ – ศึกษาสำรวจทางด้านอุทกธรณี เพื่อให้ทราบถึงทิศทางการไหล ระดับ และคุณภาพของน้ำใต้ดิน การใช้น้ำล้างเกลือออกจากดิน โดยร่วมมือกับกรมชลประทาน คำนวณปริมาณน้ำที่จะใช้ล้างเกลือในดิน จากระดับความเค็มหนึ่งให้ลดลงจนสามารถปลูกพืชทนเค็มได้ เหมาะสมกับระดับความเค็มนั้น ๆ

การใช้ที่ดินเค็มให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำได้โดย

1. จัดทำแผนที่ดินเค็ม โดยแบ่งชั้นความเค็มของดิน เพื่อจะได้ใช้ในการจำแนกว่าควรจะใช้ประโยชน์เช่นไร เช่น ดินที่มีความเค็มจัดก็ควรใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการประมง การเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ

2.ใช้พันธุ์พืชทนเค็ม เพราะพืชต่าง ๆ มีความสามารถในการทนเค็มได้ต่างกัน แม้แต่ในพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างพันธุ์กัน ก็ทนเค็มได้มากน้อยต่างกัน จากการศึกษาพบว่า ข้าวเป็นพืชที่ทนเค็มได้ปานกลาง ข้าวทนเค็มที่ได้เลือกไว้แล้วมี หอยอ้ม คำผาย 41 เก้ารวง 88 ขาวดอกมะลิ 105 กข1 กข 8 เจ๊กกระโดด กอเดียวเบา ขาวตาอู่ เหนียวสันป่าตอง ข้าวพันธุ์ต่าง ๆ นี้มีช่วงทนเค็มได้ระหว่าง 8-15 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร ส่วนพืชไร่อื่น ๆ เช่น ถั่วเขียวพันธุ์ต่าง ๆ มีช่วงทนเค็มระหว่าง 4-6 มิลลิโมห์ ต่อเซนติเมตร

ปลูกข้าวที่ทนดินเค็ม

วิธีการปลูกพืช ควรปลูกเพื่อหลีกเลี่ยงการสะสมเกลือในบริเวณที่จะกระทบกระเทือนการเจริญเติบโตของพืช เช่น ข้าว ก็ควรใช้กล้าอายุมากกว่าปกติในการปักดำคือ ควรมีอายุระหว่าง 30-35 วัน

– หาวัสดุปรับปรุงดินบางชนิดมาใช้ เช่น ปูนขาว ยิปซัม แกลบ

– ใช้วัสดุคลุมดิน หรือพืชคลุมดิน ไม่ปล่อยให้หน้าดินว่าง

– จัดระบบการปลูกพืชให้เหมาะสม ควรปลูกพืชมากกว่า 1 ชนิด โดยปลูกให้เหมาะสมกับช่วงฝน

ที่มา : technologychaoban